เริ่มคือผมงงว่าทำไมการเจียร์แคมแล้วถึงแรงขึ้นทั้งๆที่มันเล็กกว่าเดิม ซึ่งต่างจากแคมแต่งมันใหญ่กว่าเดิม เลยลองหาข้อมูลดู
พออ่านแล้วเข้าใจ ทำให้หายสงสัย เลยอยากเอามาฝากพี่ๆเพื่อนๆครับ
Make your normal Cam shaft
ในการจูนเครื่องยนต์นั้น การใช้แคมสูงเป็นอีกเมนูหนึ่งในการจูนระดับสูงที่ขาดไม่ได้ แต่ทว่า รถที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนั้นจะมีปัญหาทีว่า ไม่ค่อยมีของแต่งขาย... แต่ว่าไม่เป็นไร เอาแคมเดิมไปแต่งก็ได้ ทั้งรถที่ไม่ค่อยนิยม หรือรถเทอร์โบก็สามารถทำให้เป็นแคมสูงได้ แล้วยิ่งกว่านั้นราคาก็ไม่แพงมากด้วย
รถที่ไม่ค่อยฮิตวางใจได้แล้ว แคมเดิมก็ทำให้แรงได้ !!
ช่วงนี้แคมแบบถอดใส่ราคาถูกออกมาให้เห็นกันมากมาย ไม่แค่เฉพาะของรถ N/A เท่านั้น ทั้งเทอร์โบก็กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหลายๆ คนคงจะรู้จักกับแคมกันดีอยู่แล้ว ว่ามีความสำคัญกับเครื่องขนาดไหน
แต่ว่าคงจะมีหลายคนแน่นอน ที่ต้องบ่นกับตัวเองว่า "แคมแต่งของรถผมไม่เคยเห็นขายเลย" คราวนี้ก็เลยนำเรื่องราวของการนำแคมเดิมมาแต่งให้เป็นแคมสูงกันดู
วิธีการทำแคมเดิมให้เป็นแคมสูงนี้ เครื่องยนต์ไหนก็ตามที่มีแคมอยู่ในเครื่องสามารถทำได้ทั้งนั้น
ถ้ารู้จักกับโครงสร้างของแคมแล้ว ก็จะเข้าใจการทำแคมสูงได้ไม่ยาก
ก่อนอื่นเลย ทำไมแคมที่มีองศาต่ำ ลิฟน้อยอย่างแคมเดิมนั้น ถึงทำให้มีองศาเพิ่มขึ้น ลิฟเพิ่มขึ้นได้ล่ะ ??? ซึ่งหลายคนต้องสงสัยแน่นอน ถ้าอย่างนั้นเราอธิบายโครงสร้างของแคม พร้อมกับการแต่งแคมกันไปเลยแล้วกัน
ถ้าจะแบ่งหน้าที่สำคัญของแคมก็จะมี หน้าที่ไว้กดวาล์วลิฟเตอร์ หรือล๊อคเกอร์อาร์ม(กระเดื่องวาล์ว) กับ ตอนที่ไม่ได้กดวาล์วซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 หน้าที่นี้ พอแคมหมุน ส่วนที่กดวาล์วลิฟเตอร์จะเรียกว่า "องศาของแคม" กับส่วนที่ไม่ได้กดก็จะเรียกว่า "base circle ของแคม " ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
แล้วก็ ระยะจาก base circle (ส่วนที่ไม่ได้กดวาล์วลิฟเตอร์) ถึง ยอดลูกเบี้ยว (จุดที่ถูกกดมากสุด) ก็จะเป็น "ลิฟของแคม" ดังนั้น ถ้ามองจากแนวแกนแคมระยะห่างระหว่าง base circle กับ ยอดลูกเบี้ยว ยิ่งมากเท่าไหร่ลิฟก็ยิ่งสูงเท่านั้น
ดังนั้น ส่วนของลูกเบี้ยวของแคมเดิม ถ้าทำการพอกเข้าไปด้วยวัตถุดิบที่เหมือนกันก็จะสามารถเพิ่มลิฟให้สูงขึ้นได้อีก แต่ทว่าลูกเบี้ยวนี้มีหน้าที่กดวาล์วลิฟเตอร์ ด้วยการหมุนที่มีความเร็วสูงมาก รอยเชื่อมที่พอกเพิ่มเข้าไปนี้จะมีความแข็งแรงไม่พอ แล้วก็จะนำไปใช้ไม่ได้ด้วย
ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงล่ะ ?!!
คำตอบก็คือ เจียร์ ให้ base circle เล็กลง ซึ่งพอ base circle นี้เล็กลงมาระยะห่างของรอบ bese circle กับ ยอดลูกเบี้ยวก็จะมากขึ้นนั่นเอง
พอทำอย่างนี้แล้ว มองจากภายนอกจะทำให้ดูแคมนั้นเล็กลง แต่จริงๆ แล้วปริมาณในการกดวาล์วลงไปนั้นเพิ่มขึ้น ดูจากรูปข้างบนที่เจียร์ลูกเบี้ยวแค่ครึ่งลูกคงจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
อย่างเช่น ถ้าทำการเจียร์ base circle ออกไปประมาณ 1 mm. แล้วเจียร์ยอดลูกเบี้ยวออกไปอีกประมาณ 0.7 mm. แล้วมาดูจะเห็นว่าลูกเบี้ยวมันเล็กกว่าของเดิม แต่ลิฟที่กดวาล์วลงไปนั้น เพิ่มขึ้นอีก 0.3 mm.
แล้วที่ทำการเจียร์ยอดลูกเบี้ยวออกไปก็เพื่อเพิ่มองศาให้กับลูกเบี้ยว อย่างแคมเดิมของ 1J อันนี้ เดิมเป็น 232 องศา เพิ่มไปเป็น 248 องศาเลยทีเดียว จากการเจียร์ส่วนที่ไม่ใช่แค่ base circle เพื่อเพิ่มองศาให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาวาล์วลอยเป็นต้น และส่วนทั้งหมดที่ได้ทำการเจียร์ไปนั้นเรียกกันว่า "รูปร่างของลูกเบี้ยว(cam profile)"
จากรูปนี้ สามารถรู้ได้เลยว่าส่วนไหนที่ถูกเจียร์ออกไปแล้วส่วนใหญ่ เป็นแคมสูง ไม่ใช่แค่เจียร์ส่วนของ base circle อย่างเดียว แต่ว่าต้องเจียร์กันทั้งลูกเบี้ยว เพื่อเพิ่มองศาให้มากขึ้นด้วย
จากการทำแบบนี้ ถ้าได้ทำกับลูกเบี้ยวทุกส่วน จากแคมเดิมก็จะแปลงร่างเป็นแคมสูงในทันที
แต่ทว่า ในการทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้อเสียเลย
อย่างแรก พอเจียร์ base circle ออกไป เคลียรานซ์ (Clearance) ของแคมกับวาล์วลิฟเตอร์ก็จะมากขึ้น ทำให้ต้องตั้งเคลียรานซ์กันใหม่ แล้วที่สำคัญต้องเจียร์ base circle ให้ไม่มากเกินขนาดของชิมด้วย ดังนั้นจะทำให้เป็นลิฟสูงมากเกินไป องศาสูงมากเกินไป เป็นสิ่งที่ทำยากเหมือนกัน
แล้วอีกอย่าง แคมของเครื่องรุ่นเก่าบางรุ่นเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างนิ่ม พอเจียร์ออกไปทำให้ไม่แข็งแรงก็มี ดังนั้นในการทำแคมนี้ ต้องขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ด้วย แล้วยังต้องเป็นคนที่มีความรู้ ในการประกอบเพื่อจะได้สั่งให้โรงเจียร์ทำได้ถูกต้องด้วย
แต่ว่า ถึงแม้จะเป็นแคมเดิมก็ตาม ถ้าเปลี่ยนเข้าไปก็ต้องทำการตั้งเคลียรานซ์กันใหม่อยู่ดี ระยะของการตั้งวาล์วนี้ หรือว่าวาล์วไทมิ้ง ทั้งหลายนี้ถ้าเป็นร้านที่มีความรู้อยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำแคมเดิมนี้ให้เป็นแคมสูง โดยทั่วไปจะทำกันประมาณ 256 องศา แล้วก็เพิ่มลิฟประมาณ 0.3 - 0.5 mm. ส่วนค่าทำนั้นทั่วไปถ้าเป็น 4 สูบ หนึ่งท่อน (16 วาล์ว ลูกเบี้ยว 8 ลูก) ก็ประมาณ 22,000 เยน ดูแล้วยังไงก็ถูกกว่าซื้อของแต่งมาเล่นซะอีก
เทคนิคแบบนี้ เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เลยเมื่อ 15-20 ปีก่อน สำหรับรถแต่ง N/A "สมัยเครื่องแบบ L" โน่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เค้าทำกันเป็นปกติเลยก็ว่าได้ แต่ว่าในสมัยนี้เหมือนจะถูกลืมๆ กันไปเสียแล้ว สำหรับรถที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม แล้วบอกว่าไม่มีของแต่งแล้วก็เลิกล้มความตั้งใจในการโมฯ รถ ก็อย่าเพิ่งทำอย่างนั้น เพราะว่าการจูนแคมแบบนี้ก็ไม่แพงอย่างที่คิด แล้วก็ไม่ยากด้วย
ค่าแรงในการทำแคมแบบนี้ ส่วนมากจะคิดเป็นจำนวนลูกเบี้ยว อย่างในกรณีของ TOMEI ที่ทำงานนี้ แคมหนึ่งท่อนที่มีลูกเบี้ยว 8 ลูก จะคิด 22,000 เยน แต่ถ้าอย่างพวก B16A ที่มีท่อนนึงถึง 12 ลูก ก็จะคิด 28,000 เยน
ตอนที่ไปทำเรื่องนี้ ก็มีแคมของ MARCH, CYNOS เข้ามาทำด้วยเหมือนกัน
การตั้งวาล์วก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน แต่ว่าตามหลักแล้วไม่ว่าแคมอะไรก็สามารถทำแบบนี้ได้
โดยเฉพาะยิ่งพวกที่ตั้งวาล์วด้วยการขันน๊อตอย่าง B16A แล้ว ยิ่งทำแคมง่ายขึ้นไปอีก
Credit by....
http://huntingtest_mo22.tripod.com/modify/le-20.html